ประวัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์

ความนำ

องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งที่มีวิวัฒนาการมายาวนานหลายสิบปี นับตั้งแต่การจัดตั้งสภาจังหวัดพร้อมกันกับการจัดตั้งเทศบาลเพื่อทำหน้าที่เป็นสภาที่ปรึกษาแก่รัฐบาลและตรวจสอบการทำงานของเทศบาล ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงเป็นสภาที่ปรึกษาของกรมการจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดจนกระทั่งได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด มีอำนาจหน้าที่และรายได้ของตนเองโดยเฉพาะ องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีลักษณะพิเศษที่นอกเหนือจากจะมีพื้นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัดแล้ว พื้นที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดยังทับซ้อนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปอื่น ๆ ได้แก่ เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนเรื่องรายได้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งมีแหล่งรายได้ที่แตกต่างไปจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปอื่น ๆ ดังนั้น การบริหารงานตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจศึกษา

ความเป็นมา

การจัดรูปองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปหนึ่งที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ได้มีการปรับปรุงแก้ไขและวิวัฒนาการมาตามลำดับ โดยจัดให้มีสภาจังหวัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2476 ตามความในพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 ฐานะของสภาจังหวัดตามพระราชบัญญัตินี้มีลักษณะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหารือแนะนำแก่กรรมการจังหวัด โดยยังไม่ได้มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากราชการบริหารส่วนภูมิภาค ต่อมาในปี พ.ศ.2481 ได้มีการตราพระราชบัญญัติสภาจังหวัด พ.ศ.2481 ขึ้น โดยมีความประสงค์ที่จะแยกกฎหมายที่เกี่ยวกับสภาจังหวัดไว้โดยเฉพาะแต่สภาจังหวัดยังทำหน้าที่เป็นสภาที่ปรึกษาของกรรมการจังหวัดเช่นเดิม จนกระทั่งได้มีการประกาศให้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495 ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบการบริหารราชการในจังหวัดของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ทำให้อำนาจของกรรมการจังหวัดเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนั้น โดยผลแห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ทำให้สภาจังหวัดมีฐานะเป็นสภาที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย ต่อมาได้เกิดแนวความคิดที่จะปรับปรุงบทบาทของสภาที่ปรึกษาของสภาจังหวัดให้มีประสิทธิภาพและให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนในการปกครองตนเองยิ่งขึ้นอันมีผลให้เกิด “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” ขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ.2498 ซึ่งกำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แยกจากจังหวัดซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคและประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่29 กันยายน 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ได้กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นรูปหนึ่งจนกระทั่งปัจจุบัน

พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 ความพยายามแก้ไขกฎหมาย อบจ.ได้ดำเนินมาก่อนบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทั้งนี้เป็นผลกระทบมาจากการเกิดขึ้นของกฎหมายย อบต.เมื่อปี พ.ศ.2437 ที่ส่งผลให้เกิดท้องถิ่นรูปแบบใหม่นี้แทบทุกพื้นที่ อุบัติการณ์ดังกล่าวทำให้รายได้ของ อบจ.ลดลงอย่างมากมายเพราะความที่มีพื้นที่ทับซ้อนกันกับ อบต.และสภาตำบลมาแต่เดิม ครั้น อบต.ยกฐานะเป็นท้องถิ่นอีกรูปแบบหนึ่ง เขตพื้นที่อบจ.จึงเหลือแค่สภาตำบล ซึ่งมีจำนวนลดลงเรื่อยๆตามการเพิ่มขึ้นของอบต. จนกระทั่งขณะนี้เหลือสภาตำบลเพียง 214 แห่งเท่านั้น ภาษีส่วนใหญ่จึงตกเป็นรายได้ของอบต.จำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างอำนาจหน้าที่และรายได้ของ อบจ.ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สมาชิกสภาจังหวัดทั่วประเทศได้รวมทั้งจัดตั้งสมาพันธ์สมาชิกสภาจังหวัดแห่งประเทศไทย (สจท.) เมื่อปี พ.ศ.2538 โดยมุ่งผลักดันให้มีการเลือกตั้งนายกอบจ.และในวันที่ 31 ตุลาคม 2540 ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติอบจ.โดยมีสาระสำคัญ คือ

(1) ถึงคราวออกตามอายุของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

(2) มีการยุบสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งยุบสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

(3) สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสิ้นสุดลงพร้อมกันทั้งหมดเนื่องจากราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง

(4) พ้นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

(5) สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่รับหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม

(6) ลาออกโดยการยื่นหนังสือลาออกต่อประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

(7) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งให้ออกจากตำแหน่งเนื่องจากมีพฤติการณ์ละเลยไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่หรือประพฤติตนฝ่าฝืนความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(8) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง

นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหารทำหน้าที่บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งข้าราชการที่ปฏิบัติงานในองค์การบริหารส่วนจังหวัดเรียกว่า “ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด” มีปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการประจำและลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด รองลงมาจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด


ที่มา :   http://oknation.nationtv.tv/blog/dhiwakorn/2011/09/13/entry-1